วันอังคารที่ 27 มกราคม พ.ศ. 2558


                                                                         คำถาม

                              ทำไมคนในอำเภอชะอวดถึงชอบคุยโทรสัพมากกว่าคุยกันเอง
                               เป็นเพราะอิทธิพลของเทคโนโลยีหรือเป็นเพราะเพื่อน






โลกยุค “เด็กก้มหน้า” ปัญหาใหญ่ที่พ่อแม่ต้องตระหนัก/สรวงมณฑ์ สิทธิสมาน  คอลัมน์ พ่อแม่ลูกปลูกรัก
ปัจจุบันไม่มีใครปฏิเสธว่าโทรศัพท์มือถือได้กลายมาเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตผู้คนไปซะแล้ว บางคนมีหลายเครื่องอีกต่างหาก และส่วนใหญ่ก็มักจะเลือกใช้สมาร์ทโฟน เพราะด้วยฟังก์ชันที่ต้องการจะตอบสนองชีวิตประจำวันของมนุษย์ยุคโลกาภิวัตน์ 
       จริงอยู่ว่าโลกเปลี่ยน การมีโทรศัพท์มือถือมีข้อดีมากมาย ทั้งสะดวกรวดเร็ว สามารถติดต่อผู้คนได้มากมาย ทั้งทางด้านธุรกิจ คุยกับเพื่อน ยิ่งเดี๋ยวนี้มีแอพลิเคชั่นมากมาย โดยเฉพาะโปรแกรมที่ใช้ chat ได้รับความนิยมชนิดถล่มทลาย
       ก่อนหน้านี้คนเป็นพ่อแม่ที่มีลูกอยู่ในช่วงวัยรุ่นมักวิตกกังวลกลัวลูกคุยโทรศัพท์ทั้งวัน ติดโทรศัพท์ ไม่เป็นอันทำอะไร แต่เดี๋ยวนี้ลูกไม่ค่อยได้คุยโทรศัพท์แล้ว แต่ก็ยังคงติดมือถือหนึบหนับเหมือนเดิม หรืออาจจะมากกว่าเดิมด้วย เพราะใช้วิธีคุยผ่านโปรแกรม chat
       เด็กและเยาวชนรุ่นใหม่ต้องเติบโตขึ้นมาในสังคมที่เต็มไปด้วยการสื่อสารผ่านเทคโนโลยีที่พรั่งพรูอยู่ทุกวัน และเด็กส่วนใหญ่ก็เรียกร้องที่จะมีโทรศัพท์มือถือที่สามารถ chat ได้ โดยเฉพาะเจ้าแอปพลิเคชัน Line ที่คนไทยนิยมกันมากมายเหลือเกิน ใช้กันมากถึงขั้นเป็นอันดับ 2 ของโลก
       งานวิจัยหลายชิ้นที่สะท้อนให้เห็นว่าเด็กรุ่นใหม่ติดโทรศัพท์มือถืออย่างหนัก กลุ่มวัยรุ่นไทยมีความรู้สึกที่ดีต่อเทคโนโลยีในแง่ของความรู้สึกปลอดภัย มั่นใจ ได้เข้าสังคม และทันสมัย ทั้งยังพบว่า มือถือมีความสำคัญเป็นอันดับ 1 ในชีวิตของพวกเขา บางคนบอกว่าถ้าขาดมือถือจะมีอาการเหมือนคนติดยา !
       โทรศัพท์มือถือกลายเป็นสิ่งที่มีคุณค่าทางจิตใจ และกำลังจะกลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตเด็กรุ่นใหม่ไปแล้ว
       ล่าสุด กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข ได้ออกมาแถลงถึงผลสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติล่าสุดในปี 2555 พบว่า ในกลุ่มประชาชนอายุ 6 ปีขึ้นไป ใช้โทรศัพท์มือถือจำนวน 44 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 70 ของประชากรทั้งประเทศ และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในเขต กทม.มีการใช้มากที่สุดร้อยละ 84 ภาคกลางร้อยละ 75  ภาคเหนือร้อยละ 68 ภาคใต้ร้อยละ 67 และต่ำสุดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือใช้ร้อยละ 64 
   
       ทั้งระบุว่าพฤติกรรมคนไทยในการใช้โทรศัพท์มือถือในชีวิตประจำวัน โดยเฉพาะชนิดสมาร์ทโฟน ได้รับความนิยมมากขึ้นทั้งผู้ใหญ่และเด็ก  โดยเฉพาะโปรแกรมแอปพลิเคชันไลน์ (LINE) ที่นิยมใช้ในการส่งข้อความ เช่น ส่งการบ้าน ข้อความสั้น ส่งรูปถ่ายส่วนตัว รูปทั่วไป คลิปเสียง สติกเกอร์ต่างๆ และใช้ฟรีตลอดเวลา ส่งผลต่อพฤติกรรมของเด็กและเยาวชน
       ผลดีอาจสร้างความสะดวกในการสื่อสารโดยเฉพาะในสถานที่งดการใช้เสียง  รวดเร็วทั้งภาพและเสียง ประหยัดไม่ต้องเสียค่าโทรศัพท์  ส่วนเรื่องผลกระทบที่เป็นห่วง โดยเฉพาะกลุ่มเด็กและเยาวชนที่ยังมีวุฒิภาวะน้อยหากผู้ปกครองไม่ชี้แนะ ดูแล ควบคุมการใช้อย่างจริงจัง  อาจจะเกิดผลกระทบทั้งสุขภาพกายและสุขภาพจิต
       ที่น่าห่วงก็คือการเกิดพฤติกรรมก้มหน้า สังคมก้มหน้า การสื่อสารแบบเผชิญหน้าจะลดน้อยลง และอาจนำไปใช้เป็นประจำจนติดเป็นนิสัย ผู้ใช้อยู่ในโลกส่วนตัวมากเกินไป ไม่สนใจสิ่งรอบข้าง ขาดความระมัดระวัง อาจเกิดปัญหาอุบัติเหตุได้ง่ายขึ้น
       เรียกว่าเป็นอาการน่าเป็นห่วงอย่างยิ่งสำหรับเด็กยุคนี้ที่กำลังกลายเป็น “เด็กยุคก้มหน้า” !
       มีงานวิจัยมากมายหลายสำนักก่อนหน้านี้ที่ส่งสัญญาณเตือนดังๆ ออกมาว่าเป็นห่วงพฤติกรรมของเด็กรุ่นใหม่ที่ติดมือถืออย่างหนัก เพราะฉะนั้น พ่อแม่ต้องใส่ใจและตระหนักอย่างจริงจังต่อเรื่องนี้ โดยปลูกฝังตั้งแต่เด็ก
       ประการแรก เริ่มจากความรัก ความใกล้ชิดของพ่อแม่ ที่จะเป็นปราการด่านแรกในการให้ลูกได้เรียนรู้และสัมผัสได้ถึงความรัก ความห่วงใย
       ประการต่อมา ทำกิจกรรมกับลูกอย่างสม่ำเสมอ จะทำให้ลูกสนใจกิจกรรมและเรียนรู้ถึงการใช้เวลาว่างและการมีงานอดิเรก
       ประการที่สาม สื่อสารกับลูกตั้งแต่เล็กในรูปแบบการมีปฏิสัมพันธ์ที่ควรจะมีการสื่อสารผ่านความรู้สึก สีหน้า ท่าทาง แววตา และมีการพูดคุยกันอย่างสม่ำเสมอตั้งแต่เล็กจนโต
       ประการที่สี่ กำหนดกฎ กติกาตามวัย ให้เขาได้เรียนรู้การมีกฎกติการ่วมกันภายในบ้าน เริ่มจากเรื่องเล็กๆ ในเรื่องอื่นๆ โดยดูให้เหมาะสมกับวัย จนกระทั่งมาถึงเรื่องมือถือในวัยที่เหมาะสม ก็ต้องมีกฎกติกาว่าจะใช้เมื่อไร ควบคุมเรื่องเวลา และพูดคุยให้ฟังถึงประโยชน์และโทษของมันให้ลูกได้รับรู้ หรืออาจมีข้อตกลงร่วมกัน เช่น มื้ออาหารห้ามใช้มือถือ ฯลฯ
       ประการที่ห้า พยายามกำหนดกิจกรรมที่อยากให้ลูกทำ หรือเป็นกิจกรรมเรื่องโปรดของเขาอยู่แล้ว แต่พอมีมือถือก็ทำให้เขาห่างไป เช่น การอ่านหนังสือ ก็อาจใช้วิธีกำหนดเวลาให้เขาหยุดใช้มือถือช่วงเวลาไหน และต้องให้เวลากับกิจกรรมอ่านหนังสือก่อนนอน ถ้าทำเป็นประจำ เขาก็จะติดเป็นนิสัย
       ประการที่หก พ่อแม่ต้องทำให้ได้ด้วย ถ้าไม่อยากให้ลูกเป็นเด็กก้มหน้า พ่อแม่ก็ต้องไม่มัวแต่ก้มหน้าด้วย
       คนเป็นพ่อแม่ยุคนี้อาจรู้สึกเหนื่อยหรือท้อแท้กับการดูแลลูก เพราะมีสภาพแวดล้อมที่เข้ามาเป็นสิ่งเย้ายวนใจมากมายเหลือเกิน แต่เราก็ไม่อาจปฏิเสธปรากฏการณ์เหล่านี้ไปได้
       เพราะฉะนั้น เราต้องไม่ยอมให้ลูกของเราตกเป็น “เด็กก้มหน้า” และกลายเป็นเหยื่ออีกรายของโลกเทคโนโลยีนะคะ
       ลองคิดเล่นๆ ถ้าเรายังปล่อยสถานการณ์อย่างนี้ไปเรื่อยๆ อีกหน่อยโลกอนาคตผู้คนคงเดินก้มหน้า และ  มีวิวัฒนาการใหม่กลายเป็น “คองอ” กันไปหมด
       









ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น